วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ข่าวสารจากหน่วยงานไตเทียม

การเตรียมความพร้อมก่อนการฟอกสีเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม
           หลายท่านคงเคยได้ยินคำเล่าลือต่างๆ นานา เกี่ยวกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมาก่อน ว่าการฟอกเลือดทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้น หรือว่าถ้าผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรงไม่ควรทำการฟอกเลือด เนื่องจากอาจจะทนสารฟอกเลือดไม่ไหว คำเล่าลือดังกล่าวมักถูกถ่ายทอดมาจากผู้ที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฟอกเลือด ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังหลายรายได้รับการฟอกเลือดช้ากว่าที่ควรจะเป็น หรือกลัวการฟอกเลือดจนไม่ยอมฟอกเลือด แพทย์โรคไตมักจะพบเสมอว่า ความเข้าใจผิดดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น น้ำท่วมปอดจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เกิดอาการชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ทั้งที่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากได้รับการฟอกเลือดตามเวลาที่เหมาะสม



การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

           ถ้าทำแล้วอาการผู้ป่วยจะดีขึ้นหรือไม่ ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้หรือไม่ ข้อสงสัยต่างๆ ที่กล่าวมาผู้ป่วยควรจะต้องทำความเข้าใจในสิ่งต่อไปนี้ คือ

           1.ทำความเข้าใจและปรึกษาแพทย์โรคไต

           2.ทำความเข้าใจกับภาวะโรคไตวายเรื้อรังที่เป็นอยู่

           3.ทำความเข้าใจกับขั้นตอนการฟอกเลือดและเครื่องไตเทียม

           4.เตรียมตัวเตรียมใจเมื่อเริ่มฟอกเลือด

           5.เมื่อใดจึงจะหยุดฟอกเลือดได้

ทำความเข้าใจและปรึกษาแพทย์โรคไต

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมักจะถูกส่งต่อมาให้แพทย์โรคไตโดยสาขาแพทย์อื่น อันที่จริงแล้วไตวายเรื้อรังไม่ใช่ตัวโรคต้นเหตุอื่นเท่านั้น แต่เป็นเพียงภาวะของไตที่เสื่อมสภาพลงจากสาเหตุอื่นเท่านั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังมีได้หลายประการ แต่สาเหตุสำคัญได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโรคหิตสูง ไตอักเสบเรื้อรัง โรคนิ่วในไตและโรคไตเป็นถุงน้ำ โดยโรคเหล่านี้มักจะทำให้หน้าที่ของไตเสื่อมลงหากรักษาไม่เหมาะสม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไตวายเรื้อรังเป็นสาเหตุ แพทย์โรคไตจะทำการตรวจเลือดเพื่อดูระดับความเข้มเลือด ระดับของเสียในเลือดซึ่งได้แก่ ระดับยูเรียในเลือด (BUN) ระดับครีอะตินีน (Cr) หรือตรวจขนาดของไตโดยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือตรวจปัสสาวะ เพื่อหาค่าการขับครีอะตินีน (Creatinine clearance) หลังจากนั้น แพทย์โรคไตจึงจะวินิจฉัยว่าเป็นไตวายเรื้อรังหรือไม่ โดยอาศัยข้อมูลเหล่านี้มาประกอบ

ทำความเข้าใจกับภาวะโรคไตวายเรื้อรังที่เป็นอยู่

ไตวายเรื้อรังมักมีสาเหตุดังนั้น จะต้องรักษาที่สาเหตุรวมด้วย เช่น ถ้าเป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูงควรต้องรักษาด้วย ไตวายเรื้อรังสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ ตามความรุนแรง ได้แก่ระดับเบา ระดับปานกลางและระดับรุนแรง ดังกล่าว ไตวายเรื้อรังระดับเบาและระดับปานกลาง สามารถรักษาชะลอ ไม่ให้ไตเสื่อมมากขึ้น โดยให้ยารับประทานได้ แต่ขอเน้นว่าไม่สามารถทำให้ไตที่เสื่อมไปแล้วกลับมาเหมือนคนปกติได้ ไตวายเรื้อรังระดับรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยมักจะถูกพบว่ามีค่ายูเรียในเลือด 7-10 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งแพทย์โรคไตจะแนะนำให้ผู้ป่วยเตรียมตัว เพื่อที่จะเริ่มฟอกเลือด

บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไตวายเรื้อรังระดับรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดนั้นมีอาการไม่ชัดเจนหรืออาการยังไม่มาก เช่นมีเพียงอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เท่านั้น อาการเหล่านี้หากไม่รีบทำการฟอกเลือดตามคำแนะนำของแพทย์โรคไตอาจเป็นรุนแรงมากขึ้น เช่นมีอาการชักเกร็งหมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือแม้กระทั้งเสียชีวิตได้

ดังนั้นถ้าหากแพทย์โรคไตแนะนำให้ทำการฟอกเลือด ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังควรปฏิบัติตามก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การฟอกเลือดในขณะที่อาการยังไม่รุนแรงจะได้ผลดี ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็วกว่าการฟอกเลือดที่ทำในขณะอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน

ทำความเข้าใจกับขั้นตอนการฟอกเลือดและเครื่องไตเทียม
           การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คือ การนำเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยเข้าสู่ตัวกรองเลือด (Dialyzer) ของเครื่องไตเทียม ผ่านเส้นเลือดพิเศษของผู้ป่วย (Arteriovenous access) ด้วยความเร็วเลือด 200-350 มิลลิลิตร/นาที การนำเลือดออกจากตัวผู้ป่วยปริมาณมากเช่นนี้มีความจำเป็นต้องทำเส้นเลือดพิเศษขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเส้นเลือดปกติของผู้ป่วยไม่สามารถให้เลือดออกมาในอัตราดังกล่าวได้

           ผู้ป่วยจะได้รับการส่งต่อไปพบศัลยแพทย์เส้นเลือดเพื่อทำการผ่าตัดเล็ก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 นาที – 1 ชั่วโมง เท่านั้น หลัง จากนั้นรอประมาณ 1-2 เดือน จึงเริ่มใช้เส้นเลือดพิเศษนี้ในการฟอกเลือดได้

           ในบางกรณีที่อาการผู้ป่วยเป็นมากเช่น มีน้ำท่วมปอด แต่ยังไม่มีเส้นเลือดพิเศษ แพทย์โรคไตอาจจะต้องแทงเข็มชั่วคราว ที่หัวไหล่หรือต้นคอเพื่อใช้ในการฟอกเลือดฉุกเฉินไปก่อนแล้วจึงค่อยทำเส้นเลือดพิเศษภายหลัง

           เมื่อเลือดออกจากเส้นเลือดพิเศษเข้าสู่เครื่องไตเทียมแล้ว เครื่องไตเทียมจะทำการฟอกเลือด โดยนำเพาะของเสียออกจากเลือด จากนั้นจะคืนเลือดสู่ผู้ป่วย โดยที่ผู้ป่วยจะไม่สูญเสียเลือดออกจากร่างกาย

เตรียมพร้อมเมื่อทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

           การฟอกเลือดนั้นได้รับการคำนวณทางวิทยาศาสตร์มาแล้วว่าจะต้องทำอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 4-5 ชั่วโมง จึงจะสามารถให้ผลการรักษาที่ดีจนผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง สามารถกลับไปทำงานตามปกติได้

           การฟอกเลือดไม่เหมือนการผ่าตัด ผู้ป่วยเพียงแต่นั่งหรือนอนที่โซฟาหรือเตียงที่จัดเตรียมเอาไว้ให้หลังจากนั้นพยาบาลไตเทียม จะทำการแทงเข็มเพื่อให้เลือดวิ่งเข้าสู่เครื่องไตเทียมผู้ป่วยสามารถอ่านหนังสือรับประทานอาหาร หรือฟังวิทยุดูโทรทัศน์ระหว่างการฟอกเลือด

           การฟอกเลือดถึงแม้ว่าจะเป็นการช่วยนำของเสียจากอาหารและน้ำที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวันออกมาได้ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถทดแทนไตที่เสื่อมไปได้ 100% ดังนั้นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจึงจำเป็นต้องควบคุมอาหารและน้ำดื่มตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะน้ำท่วมปอดหรือหัวใจเต้นผิดปกติได้

เมื่อใดจึงจะหยุดฟอกเลือดได้

           เมื่อเป็นไตวายเรื้อรังระดับรุนแรงแล้วหมายความว่า ไตเสื่อมสภาพไปโดยถาวร ดังนั้นการฟอกเลือด จำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมออาทิตย์ 2-3 ครั้งตลอดไปไม่มีวันหยุดเพื่อทำหน้าที่แทนไตที่เสียไป ยกเว้นเสียแต่ว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่จึงจะสามารถหยุดทำการฟอกเลือดได้